เทพสาริกาคู่ ครูบากฤษณะ วัดป่ามหาวัน จ.นครราชสีมารุ่นปลดหนี้ ปี47
ครูบากฤษณะ อิณทวัณโณ สำนักสงฆ์เวฬุวัน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๙๗ ที่บ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นบุตรคนที่ ๙ ของครอบครัว เดิมชื่อ สุรเดช ตับกลาง บิดามารดาเป็นแพทย์แผนโบราณที่สืบต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ทำให้ท่านครูบาได้เรียนรู้วิชาหมอยาแผนโบราณ ที่ใช้สมุนไพรเป็นหลัก รวมทั้งยังได้ศึกษาคาถาอาคมมาตั้งแต่เยาว์วัย
เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ท่านได้ถือบวชเป็นโยคีพราหมณ์ผ้าขาว ออกเดินทางไปยังภูเขาควายในประเทศลาว ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมสรรพวิชาต่างๆ ทางไสยเวทและคาถาอาคม โดยท่านได้ศึกษาวิชาเหล่านี้กับ “หลวงปู่ฤๅษี” อยู่หลายปี จนมีความรู้พอประมาณแล้ว จึงได้เดินทางกลับเมืองไทย โดยใช้ชีวิตในเพศฆราวาสได้ระยะหนึ่งก็เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๒ ณ พัทธสีมา วัดโคกอู่ทอง ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ได้รับฉายาว่า “อินทวัณโณ”
ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งจากพระไตรปิฎกและจากครูบาอาจารย์หลายท่าน จนจิตใจมั่นคงด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าดีแล้วจึงได้จาริกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อเจริญจิตบำเพ็ญภาวนาโดยถือธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด ยอมมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนาตลอดมา
ท่านได้จาริกไปตามลำพังในป่าเขาดงดิบ เทือกเขาใหญ่ตลอดแนวภาคอีสาน จนข้ามกลับไปยังภูเขาควาย ประเทศลาวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อศึกษาเพิ่มเติมวิชาอาคมต่างๆ ต่อจากนั้นได้ธุดงค์ผ่านไปยังประเทศเขมร แล้วกลับเข้าเมืองไทยทางด้าน จ.จันทบุรี
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ ท่านครูบากฤษณะได้ธุดงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมบริเวณเทือกเขาจอมทอง เหนือเขื่อนมูลบน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวต่างพากันขึ้นไปทำบุญ และรับการอบรมสั่งสอนจากท่านเป็นประจำ จนในที่สุดชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านเป็นประธานในการก่อสร้าง “สำนักสงฆ์ป่ามหาวัน” ขึ้นที่นั่น เพื่อใช้เป็นสถานประกอบศาสนกิจทางพุทธศาสนา ต่อมาสำนักสงฆ์ป่ามหาวันได้รับการประกาศยกขึ้นเป็น “วัดป่ามหาวัน” อย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎระเบียบของคณะสงฆ์ไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ ท่านครูบากฤษณะได้รับถวายที่ดินบริเวณบ้านคลองกระทิง ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จากผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ประมาณ ๕ ไร่ เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ปกคลุมด้วยป่าไผ่ ห่างจากหมู่บ้านลึกเข้าไปมาก ท่านได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง จึงรับไว้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ ก่อสร้างขึ้นเป็น “สำนักสงฆ์เวฬุวัน” พร้อมทั้งซื้อที่ดินเพิ่มเติม จนปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ ๔๖ ไร่ แล้วยกให้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของ กรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม
ทุกวันนี้ ท่านครูบากฤษณะ ได้ใช้ที่ดินมรดกที่ได้รับมาจากโยมมารดา ที่บ้านโตนด ต.โตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา สร้างสรรค์ขึ้นเป็น “รัตนแก้วมณี อาศรมสถาน ครูบากฤษณะ พิพิธภัณฑ์สวนพุทธศาสตร์บ้านโตนด” พร้อมกับการพัฒนาให้ทุ่งนาเก่าให้เป็นป่าดงดิบ และป่าสมุนไพร เพื่อคืนธรรมชาติสู่พื้นที่ เนื่องจากในอดีตย่านนี้เป็นป่ามาก่อน ในส่วนที่เป็นป่าสมุนไพรก็เพราะสมัยก่อนนี้ครอบครัวของท่านได้ใช้ตัวยาจากป่านี้ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ชาวบ้านมาโดยตลอด จึงต้องปลูกสมุนไพรขึ้นเพื่อทดแทนแผ่นดิน อย่างน้อยก็ได้รับร่มเงาและอากาศที่บริสุทธิ์ให้เป็นพื้นที่สุขสงบอย่างแท้จริง
เมื่อประมาณ ๑๒ ปีก่อน ท่านครูบากฤษณะ ได้สร้างวัตถุมงคลรูปแบบหนึ่ง ที่ท่านเรียกว่า เทพภมรจำแลง โดยภาพรวมดูเหมือนกับ ผีเสื้อ กางปีก แต่ดูอีกครั้งจะเห็นเป็นรูปเทพ ๒ องค์หันหน้าเข้าหากัน ซึ่งท่านบอกว่าเป็นรูป พระศิวะมหาเทพ กับรูป พระแม่อุมาเทวี โดยมีอักษรโบราณที่เรียกว่า เทวะนาคี ล้อมรอบเป็นเสมือนคาถากำกับ ซึ่งเป็นลายมือของท่านครูบาโดยตรง วัตถุมงคลบางชิ้นมีการเพ้นท์สีงดงามมาก บางชิ้นมีการฝังเพชรฝังพลอยอย่างสวยหรู
ต่อมาท่านครูบาได้สร้างวัตถุมงคหลอีกรูปแบบหนึ่ง คือ สาลิกา สร้างความฮือฮาให้แก่วงการนักสะสมวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางเป็นอย่างยิ่ง
วัตถุมงคลทั้ง ๒ แบบนี้ ท่านครูบาได้สร้างจำนวนไม่มากนัก พอหมดก็สร้างขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนพิมพ์ใหม่ แต่ยังคงรักษารูปผีเสื้อเอาไว้เหมือนเดิม โดยได้รับความนิยมศรัทธาเลื่อมใสจากลูกศิษย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไปถึงประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และยุโรป
ปรากฏการณ์พิเศษ ในทุกวันนี้ได้มีชาวจีนทั้งจากประเทศจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ จำนวนมาก เดินทางมาเมืองไทยเพื่อเช่าบูชาวัตถุมงคลของท่านครูบาโดยเฉพาะ ทั้ง ๒ รูปแบบนี้อย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน โดยส่วนหนึ่งทราบข่าวจากพรรคพวกเพื่อนฝูงที่นำไปใช้แล้วได้ผลดีในทางความรัก ความเมตตามหานิยม และค้าขายดี และมีจำนวนไม่น้อยที่ติดตามข่าวจากเว็บไซต์ รวมทั้งยังมีนิตยสารภาษาจีนในมาเลเซียตามมาสัมภาษณ์ท่านครูบา เพื่อนำไปลงเผยแพร่อีกทางหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้รู้จัก เทพภมรจำแลง อย่างกว้างไกลในระดับอินเตอร์